ข่าวประชาสัมพันธ์

เครื่องคัดลำไยอบแห้งแบบอัตโนมัติ เพื่อเพิ่มคุณภาพและมูลค่าของลำไยอบแห้ง

1 พฤศจิกายน 2565 เครื่องคัดลำไยอบแห้งแบบอัตโนมัติ เพื่อเพิ่มคุณภาพและมูลค่าของลำไยอบแห้ง
เครื่องคัดลำไยอบแห้งแบบอัตโนมัติ
เพื่อเพิ่มคุณภาพและมูลค่าของลำไยอบแห้ง
                                                                             
ปวันรัตน์ วงศ์วรรณไพศาล
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
 
           ประเทศไทยมีการแปรรูปและส่งออกลำไยเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก โดยเฉพาะในตลาดจีน เวียดนาม ฮ่องกง และอินโดนีเซีย เป็นต้น (กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ, 2564) ถือเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของไทย โดยปลูกมากในพื้นที่ภาคเหนือร้อยละ 70 ภาคตะวันออกร้อยละ 28 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 2 ในปี 2561 ประเทศไทยส่งออกลำไยมีมูลค่ารวม 27,726.8 ล้านบาท แบ่งเป็นลำไยสด 17,219.3 ล้านบาท ลำไย อบแห้งและแช่แข็ง 10,507.5 ล้านบาท  ทั้งนี้ ข้อมูลการผลิตจากกรมวิชาการเกษตรพบว่าในปี 2565 มีเกษตรกรขึ้นทะเบียนเป็นผู้ปลูกลำไยมากกว่า 138,656 ราย มีพื้นที่เพาะปลูกรวม 1,039,756 ไร่ และคาดการณ์ว่าจะมีผลผลิตลำไยเพิ่มมากขึ้นร้อยละ 20 หรือประมาณ 1 ล้านตัน เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2564 จากปริมาณผลผลิตที่เพิ่มมากขึ้น การบริหารจัดการด้านปริมาณและคุณภาพของลำไยจึงถือเป็นส่วนสำคัญอย่างมากต่อการกระจายผลผลิตรวมถึงคุณภาพการส่งออกของลำไยสดและลำไยอบแห้งของประเทศไทย
      ปัจจุบันกระบวนการแปรรูปลำไยอบแห้งยังต้องใช้แรงงานคนที่มีทักษะสูงในการคัดคุณภาพลำไยอบแห้ง โดยจะทำการคัดลำไยอบแห้งที่มีลักษณะบุบ แตก และสีที่ไม่ได้ตามต้องการทิ้งและถือเป็นของเสียจากกระบวนการผลิต ซึ่งจะมีลำไยแห้งที่เสียประมาณร้อยละ 5 – 15 ต่อรอบการผลิต หากโรงงานที่ผลิตมีการจัดการที่ดี ไม่ให้มีลำไยอบแห้งเสียปนในแต่ละรอบการส่งออกจำหน่าย จะทำให้สามารถจำหน่ายในราคาที่สูงขึ้นประมาณร้อยละ 2 – 4 จากราคาปกติ ดังนั้น ทุกโรงงานจึงให้ความสำคัญกับขั้นตอนการคัดคุณภาพของลำไยอบแห้งเป็นอย่างมาก เพื่อให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่ยอมรับของตลาดและจำหน่ายราคาสูง อย่างไรก็ตามพบว่าการใช้แรงงานคนในกระบวนการดังกล่าว ต้องใช้เวลาคัด 20 - 30 นาที ต่อลำไยอบแห้ง 20 กิโลกรัม จึงต้องใช้แรงงานจำนวนมากเพื่อให้ได้ปริมาณการผลิตที่ต้องการ ทำให้โรงงานมีต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านแรงงานเพิ่มขึ้น
         บริษัท เอไออินดัสทรีส์ จำกัด ซึ่งมีประสบการณ์ในการบริหารโรงงานลำไยอบแห้งมามากกว่า 15 ปี และมีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเทคโนโลยีแมชชีนวิชั่น (machine vision) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใช้สำหรับตรวจสอบผลิตภัณฑ์ทางกายภาพ โดยมีระบบการประมวลผลใกล้เคียงกับการทำงานของมนุษย์ สามารถตัดสินใจได้และส่งผลลัพธ์ที่ต้องการตามโปรแกรมที่กำหนดไว้ จึงพัฒนาเครื่องคัดคุณภาพลำไยอบแห้งโดยอาศัยเทคโนโลยีแมชชีนวิชั่นที่ใช้ระบบ image processing ในการประมวลภาพที่มีความแม่นยำในการตรวจจับภาพ ทำงานร่วมกับเครื่องจักรกลในอุตสาหกรรมลำไยอบแห้ง ซึ่งเป็นการทดแทนแรงงานคนทักษะสูงที่ใช้ในการคัดแยกคุณภาพลำไยอบแห้ง โดยสร้างระบบอัตโนมัติตั้งแต่กระบวนการป้อนลำไยอบแห้งเข้าสู่ระบบลำเลียงสู่ระบบการคัดแยก ซึ่งการลำเลียงลำไยอบแห้งจะทำการพลิกลูกลำไย 360 องศา เพื่อให้เห็นพื้นผิวทุกด้านและใช้เทคโนโลยีแมชชีนวิชั่นในการจับภาพลักษณะพื้นผิวภายนอกของลำไยทั่วทั้งลูก ทำการประมวลภาพและคัดแยกลำไยที่คุณภาพไม่ดีออกด้วยระบบแรงลมดีดอัตโนมัติ โดยสามารถลดต้นทุนแรงงานคนในกระบวนการดังกล่าวได้ถึง 1 ล้านบาทต่อปี สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ถึง 4 เท่าต่อวัน เพิ่มคุณภาพลำไยอบแห้ง ส่งผลให้มีราคาจำหน่ายสูงขึ้น 2 – 3 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้สามารถรับซื้อลำไยสดจากเกษตรกรได้ในราคาที่สูงขึ้น นอกจากนี้ ยังสามารถดำเนินการผลิตและคัดแยกลำไยอบแห้งได้ตลอด 24 ชั่วโมงอีกด้วย

ผลกระทบทางด้านด้านเศรษฐกิจ
             โครงการดังกล่าวก่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจมูลค่ามากกว่า 10 ล้านบาท ในปี 2564 - 2565 จากการผลิตและจำหน่ายเครื่องคัดคุณภาพลำไยอบแห้ง มีโรงงานนำเครื่องดังกล่าวไปใช้มากกว่า 5 โรงงาน โดยมีราคาจำหน่ายประมาณ 500,000 บาทต่อเครื่อง รวมถึงอัตราการจ้างงานเพิ่มขึ้นมากกว่า 15 ราย ในอุตสาหกรรมผลิตเครื่องจักรกล และการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ลำไยอบแห้งของโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้เครื่องคัดลำไยอบแห้งในโครงการมากกว่า 5 ตัน

ผลกระทบทางด้านสังคม
            ยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ลำไยอบแห้งให้ได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับของตลาดทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ส่งผลต่อการยกระดับมาตรฐานในกระบวนการผลิตลำไยอบแห้งได้อีกด้วย
 
โครงการเครื่องคัดคุณภาพลำไยอบแห้ง ด้วยเทคโนโลยี Machine Vision สำหรับอุตสาหกรรมลำไยอบแห้ง
ได้รับการสนับสนุน: ภายใต้โครงการนวัตกรรมแบบเปิด ด้านเศรษฐกิจ ภูมิภาคเหนือ


ผู้สร้างสรรค์นวัตกรรม: บริษัท เอไอ อินดัสทรีส์ จำกัด
ที่อยู่: 333/153 หมู่ 6 ตำบลสันผีเสื้อ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
เบอร์ติดต่อ: 088-782-3184
อีเมล: aiindustries2019@gmail.com


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กิจกรรมประชาสัมพันธ์โครงการนวัตกรรมแบบเปิด (Open innovation roadshow) ภูมิภาค ภาคเหนือ ครั้งที่ 1 ประจำปีงบประมาณ 2565

กิจกรรมประชาสัมพันธ์โครงการนวัตกรรมแบบเปิด (Open innovation...

[News Update] กิจกรรมประชาสัมพันธ์โครงการนวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation Road Show) ภูมิภาคภาคเหนือ ครั้งที่ 5
NIA ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จัดกิจกรรม “Open Innovation Roadshow” ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครั้งที่ 4

NIA ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จัดกิจกรรม “Open...

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.)
องค์กรหลักในการเสริมสร้างระบบนวัตกรรมแห่งชาติเพื่อเพิ่มคุณค่าที่ยั่งยืน

ที่อยู่: 73/2 ถนนพระรามที่ 6 แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

Copyright © National Innovation Agency (NIA) 2019 All rights reserved.