ข่าวประชาสัมพันธ์

MOJOBOT : หุ่นยนต์เสริมสร้างทักษะด้านการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับเด็ก

30 ธันวาคม 2564 MOJOBOT : หุ่นยนต์เสริมสร้างทักษะด้านการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับเด็ก

MOJOBOT : หุ่นยนต์เสริมสร้างทักษะด้านการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับเด็ก

MOJOBOT : Educational Coding Robots for Kids

นางสาววัลยา วิศาลบรรณวิทย์
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

                   ปัจจุบันตัวช่วยในการเสริมสร้างพัฒนาการที่ดีและจินตนาการของเด็กมีหลากหลายรูปแบบทั้งของเล่น แหล่งการเรียนรู้ สื่อการเรียนการสอน ความรู้ในชั้นเรียน รวมถึงเทคโนโลยีดิจิทัลที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น ทำให้ผู้ปกครองส่วนใหญ่มักหยิบยื่นสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตให้กับเด็ก เนื่องจากง่ายและสะดวกสบายในการเข้าถึงข้อมูลและสื่อต่างๆ ทั้งที่จริงแล้วอุปกรณ์เหล่านี้กลับมีผลให้พัฒนาการของเด็กแย่ลง ทั้งด้านภาษา สมาธิ และสังคม
                 
ทั้งนี้ ทักษะหนึ่งที่มีความน่าสนใจ และถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยี และเป็นการปูพื้นฐานสู่อาชีพในอนาคตสำหรับเด็ก คือทักษะการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งสามารถช่วยพัฒนาวิธีคิดวิเคราะห์ปัญหาอย่างมีตรรกะและเป็นลำดับขั้นตอน มีเหตุมีผล รวมถึงช่วยให้เด็กมีพัฒนาการทางสมองและสติปัญญา สามารถนำไปใช้ต่อยอดในการเรียนวิชาต่างๆ เช่น วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษา ได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้การเรียนรู้ในห้องเรียนเกิดความเข้าใจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ก่อให้เกิดประโยชน์ด้านการศึกษา ความคิดสร้างสรรค์ และพัฒนาการด้านสังคมของเด็ก
                 บริษัท โปรเจ็คแล็บ จำกัด มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและหุ่นยนต์ในรูปแบบ STEM Education ได้มองเห็นปัญหาและโอกาสทางธุรกิจในด้านช่องทางการเรียนรู้ของเด็ก จึงได้พัฒนา MOJOBOT: หุ่นยนต์เสริมสร้างทักษะด้านการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับเด็ก เพื่อช่วยฝึกสมองให้เด็กมีพัฒนาการ โดยหุ่นยนต์นี้ใช้ภาษาสากล (ภาษาอังกฤษ) และมีฟังก์ชั่นการทำงานที่ครอบคลุมทุกความต้องการในการจัดการเรียนการสอน การเขียนโปรแกรมสำหรับเด็ก เพื่อรองรับความต้องการด้านการศึกษาหุ่นยนต์สำหรับเตรียมความพร้อมนักเรียนในช่วงอนุบาลและปฐมศึกษา โดยหุ่นยนต์ดังกล่าวช่วยสอนการคิดเป็นระบบ ผ่านการคิดเชิงตรรกะในการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพื่อใช้ในการตัดสินใจของหุ่นยนต์ ชุดหุ่นยนต์ถูกออกแบบให้การเรียนรู้นั้น อาศัยหลักการเขียนโค้ดแบบ ‘screen-free’ ซึ่งเป็นการเขียนโค้ดโดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์ที่มีหน้าจอทั่วไป เช่น คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ โทรศัพท์มือถือ หรือแท็บเล็ต แต่จะใช้การเขียนโปรแกรมด้วยชิ้นบล็อกทางกายภาพที่สามารถจับต้องได้ ผู้ใช้งานจะจับบล็อกมาวางเรียงกันในบอร์ดควบคุมเพื่อสร้างเป็นโปรแกรม ซึ่งระบบบอร์ดควบคุมและบล็อกคำสั่งของ MOJOBOT ถูกออกแบบเป็นลักษณะที่ทำให้สามารถเขียนโปรแกรมที่มีความซับซ้อนมากกว่าระบบอื่นที่มีอยู่ในตลาดปัจจุบัน ระบบนี้ทำให้สามารถใช้การวนลูป (looping) การตัดสินใจ (if statement) และฟังค์ชั่นย่อย (sub-routine) ซึ่งขีดความสามารถเหล่านี้เป็นนวัตกรรมที่ไม่เคยมีมาก่อน และมีประโยชน์ที่จะส่งเสริมให้ขั้นตอนการเรียนรู้มีความง่ายและสนุกสนานมากยิ่งขึ้น
                 การออกแบบหุ่นยนต์สามารถเล่นได้ในรูปแบบบอร์ดเกม ซึ่งกระดานเล่นจะมีลักษณะเป็นตาราง 8x8 อีกลักษณะสำคัญคือ การตรวจจับและรักษาตำแหน่งบนแผนที่เกมโดยใช้เซนเซอร์และอัลกอริทึ่ควบคุมของหุ่นยนต์ ซึ่งทําให้หุ่นยนต์สามารถวิ่งไปโดยไม่หลุดจากตําแหน่ง เช่นการเขียนโปรแกรมให้หุ่นยนต์เดินเป็นรูปสี่เหลี่ยมเป็นลูปแบบวนไป โดยเริ่มต้นจากจุด A เดินไปจุด B ไปจุด C ไปจุด D และกลับมาที่จุด A หุ่นยนต์จะสามารถเดินวนเป็นลูปเช่นนี้ไปได้เรื่อยๆโดยที่ไม่มีความคลาดเคลื่อนของตําแหน่ง ทําให้ผู้เล่นสามารถที่จะเล่นเกมแข่งขันกันได้อย่างจริงจังและสนุกสนาน ช่วยส่งเสริมการใช้เวลาร่วมกัน และสนับสนุนการเข้าสังคมของเด็กได้เป็นอย่างดี

ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ

                 โครงการดังกล่าว ก่อให้เกิดสินค้าเพื่อการศึกษาที่จำหน่ายภายในประเทศ ร้อยละ 80 และต่างประเทศ ร้อยละ 20 คิดเป็นมูลค่ารายได้รวมกว่า 20 ล้านบาท

ผลกระทบทางด้านสังคม

                ช่วยพัฒนาการศึกษาด้าน STEM และ Coding สําหรับนักเรียนชั้นอนุบาลและประถม ผ่านการเล่นหุ่นยนต์และบอร์ดเกม แบบ unplugged screen free coding ซึ่งปรับให้เหมาะสมสําหรับเด็ก

MOJOBOT หุ่นยนต์เสริมสร้างทักษะด้านการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับเด็ก ได้รับการสนับสนุนภายใต้โครงการนวัตกรรมแบบเปิด
ด้านเศรษฐกิจ ภูมิภาคกลาง กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ผู้สร้างสรรค์นวัตกรรม: บริษัท โปรเจ็คแล็บ จํากัด
ที่อยู่: เลขที่ 12/12  ซอยพัฒนาการ 51 สวนหลวง กรุงเทพ 10250
Website:
www.mojobot.io
Email: pooh.e@projectlab.co.th
เบอร์ติดต่อ: 097-298-9997


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ผลิตภัณฑ์เวชสำอางชะลอริ้วรอยและลดความเข้มของสีผิวจากสารสกัดหมาก

ผลิตภัณฑ์เวชสำอางชะลอริ้วรอยและลดความเข้มของสีผิวจากสารสกัดหมาก

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.)
องค์กรหลักในการเสริมสร้างระบบนวัตกรรมแห่งชาติเพื่อเพิ่มคุณค่าที่ยั่งยืน

ที่อยู่: 73/2 ถนนพระรามที่ 6 แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

Copyright © National Innovation Agency (NIA) 2019 All rights reserved.